มาตรฐาน GMP ในโรงงานผลิตอาหารเสริม
ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ใช่ว่าจะผลิตออกมาอย่างไรก็ได้ ตามความต้องการของตนเอง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารอย่าง “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ อาหารเสริม ซึ่งเราไม่ได้พูดในเรื่องของผลลัพธ์ของสินค้า เพราะสิ่งนั้นเป็นความต้องการของผู้ประกอบการหรือเจ้าของแบรนด์เอง แต่ที่เราพูดถึงอยู่นั้นคือ ขั้นตอนการผลิตสินค้า เพราะการผลิตสินค้านั้นมีกฎ ระเบียบหรือมาตรฐานที่คอยควบคุมกระบวนการผลิตเหล่านั้นอยู่
ผู้ประกอบการโรงงานอาหารนั้นย่อมต้องมีกฎ ระเบียบ และมาตรฐานหลายอย่างที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพส่งออกไปยังผู้บริโภค รวมไปถึงการผลิตอาหารเสริม ซึ่งตามกฎหมายแล้วผู้บริโภคนั้นได้รับความคุ้มครองขั้นพื้นฐาน โดยผู้บริโภคต้องได้รับประทานอาหารเสริมที่สะอาด ปลอดภัย ไม่มีสิ่งเจือปน หรือไม่มีสารพิษที่เป็นอันตราย ภายใต้การควบคุมมาตรฐาน GMP
โดยมาตรฐาน GMP ซึ่งถือเป็นเครื่องการันตีว่าอาหารเสริมที่ผลิตออกมาจากโรงงานนั้นมีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายไปสู่ผู้บริโภค โดยวันนี้ทาง Kovic ได้รวบข้อมูลเกี่ยวกับ GMP มานำเสนอ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเจ้าโรงงานอาหารเสริม รวมไปถึงเจ้าของแบรนด์ที่กำลังมองหาโรงงานอาหารเสริมที่มีคุณภาพสักที่เพื่อผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย ซึ่งมีดังต่อไปนี้
GMP คืออะไร
มาตรฐาน GMP ย่อมาจาก Good Manufacturing Practice หมายถึงมาตรฐานในการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อควบคุมการผลิตอาหารด้วยข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม เพื่อให้ได้อาหารที่มีมาตรฐานเรื่องความสะอาดและปลอดภัย มาตรฐาน GMP นั้นจะช่วยป้องกันความเสี่ยงที่เกิดกับกับกระบวนการผลิตอาหาร ทั้งเรื่องของสิ่งเจือปน อาหารเป็นพิษ และความไม่ปลอดภัยที่อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย
GMP คือมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากทั่วโลก
มาตรฐาน GMP มีความน่าเชื่อถือสูงมาก เพราะได้รับการรับรองจากทั่วโลกแล้วว่ามีมาตรฐานที่ดีในเรื่องการควบคุมกระบวนการผลิตอาหาร มีการพิสูจน์จากกลุ่มนักวิชาการด้านอาหารทั่วโลกว่า GMP ทำให้อาหารจากกระบวนการผลิตมีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
นอกจากนี้ยังเป็นการรับรองว่าถ้าหากผู้ผลิตอาหารปฏิบัติตามข้อกำหนดของ GMP ทุกอย่าง จะทำให้สามารถผลิตอาหารที่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัยและมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค จะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานสากล
GMP ควบคุมอะไรบ้าง
GMP ควบคุมทั้งส่วนของสถานประกอบการ โครงสร้างอาคารไปจนถึงกระบวนการผลิตที่ต้องสะอาด ปลอดภัย ในส่วนของกระบวนการผลิตยังมีรายละเอียดที่ GMP ควบคุมอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การคัดสรรและควบคุมวัตถุดิบ การควบคุมคุณภาพ การจัดเก็บไปจนถึงผลผลิตที่สำเร็จรูปแล้ว
นอกจากนี้ GMP ยังควบคุมการจัดส่งของผู้ประกอบการด้วยโดยทางโรงงานจะต้องมีการบันทึกข้อมูลและการตรวจสอบติดตามคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมาตรฐาน GMP เป็นการรับรองพื้นฐานที่จะนำไปสู่การรับรองมาตรฐานลำดับต่อไปที่สูงกว่าอย่าง ISO 9000 และ HACCP (Hazards Analysis and Critical Points) เป็นต้น
GMP มีกี่ประเภท
มาตรฐาน GMP แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- GMP สุขลักษณะทั่วไป (General GMP) สำหรับอาหารทุกประเภท
- GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ (Specifics GMP) สำหรับเน้นเรื่องความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารโดยเฉพาะ
GMP สุขลักษณะทั่วไป (General GMP)
เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้สำหรับอาหารทุกประเภท มีทั้งหมด 6 ข้อกำหนดด้วยกันได้แก่
- สถานที่ตั้งและอาคารผลิต
- เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต
- การควบคุมกระบวนการผลิต
- การสุขาภิบาล
- การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด
- บุคลากรและสุขลักษณะ
ข้อกำหนดของ General GMP
ด้านสถานประกอบการ
ต้องสะอาดและตั้งอยู่ในที่ที่ห่างไกลจากสิ่งที่ทำให้อาหารปนเปื้อนได้ง่าย สถานประกอบการที่ใช้ดำเนินกระบวนการผลิตต้องมีขนาดเหมาะสม ออกแบบและก่อสร้างให้รองรับกับการซ่อมบำรุงและการรักษาความสะอาด สะดวกต่อการปฏิบัติงาน ส่วนพื้นที่ภายในโรงผลิตจะต้องแยกบริเวณผลิตอาหารออกเป็นสัดส่วน ทั้งยังต้องระบายอากาศได้อย่างเหมาะสม
ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์
ต้องทำจากวัสดุที่ปลอดภัยไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร ไม่เป็นสนิม ไม่เป็นพิษ แข็งแรงและมีการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม ผ่านการฆ่าเชื้อก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต นอกจากนี้ต้องแยกเก็บเป็นสัดส่วน และมีการป้องกันฝุ่นละอองรวมถึงสิ่งสกปรกด้วย
ด้านกระบวนการผลิต
มีการควบคุมตามหลักสุขาภิบาลทุกขั้นตอนอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ ส่วนผสม ภาชนะ การผลิต การเก็บรักษา การขนย้าย และขนส่งผลิตภัณฑ์อาหาร
ด้านการสุขาภิบาล
ต้องควบคุมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาลเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน เช่น อ้างล้างมือ ห้องน้ำ ระบบกำจัดขยะมูลฝอย การระบายน้ำทิ้ง การป้องกันสัตว์และแมลง เป็นต้น
ด้านการบำรุงรักษาและการทำความสะอาด
เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างถูกต้องด้านความสะอาดและเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกรวมถึงสารอันตรายปนเปื้อนสู่ผลิตภัณฑ์อาหาร ทางโรงงานจะต้องมีการทำความสะอาด ดูแลและเก็บรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์สำหรับผลิตให้อยู่ในสภาพที่สะอาด ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการผลิต
ด้านบุคลากร
ต้องสวมเครื่องแต่งกายที่สะอาดและเหมาะต่อการปฏิบัติงาน ต้องมีสุขภาพดี ไม่เป็นวัณโรคในระยะอันตราย และไม่เป็นโรคผิวหนังที่น่ารังเกียจหรือโรคเรื้อน
GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ (Specific GMP)
เป็นหลักเกณฑ์ที่เพิ่มเติมจาก GMP ทั่วไป เน้นในเรื่องความเสี่ยงและความปลอดภัยของแต่ละผลิตภัณฑ์อาหารโดยเฉพาะเช่น ข้อกำหนด GMP สำหรับน้ำบริโภค หรือข้อกำหนด GMP สำหรับนมพร้อมบริโภคชนิดเหลวที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนโดยวิธีพาสเจอร์ไรส์ เป็นต้น
สำหรับ GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์จะมีการควบคุมการผลิตของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดที่แตกต่างกันออกไปตามรายละเอียดของผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ๆ โดยเฉพาะ
การบังคับใช้ GMP
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยนำเอาหลักเกณฑ์มาตรฐาน GMP มาบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 193) พ.ศ. 2543 ผู้ประกอบการอาหารจึงต้องศึกษาข้อกำหนดโดยละเอียดเพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐาน นำมาซึ่งอาหารคุณภาพที่อยู่บนพื้นฐานข้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่งมาตรฐาน GMP ครอบคลุมเนื้อหาในเรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544
ประโยชน์ของ GMP
- ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยมีคุณภาพ
- เป็นแนวทางการผลิต เพื่อประกันว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพปลอดภัย ตรงตามที่มาตรฐานกำหนด และผลิตภัณฑ์มีความสม่ำเสมอในทุก ๆ ล็อตการผลิต
- ช่วยลดข้อผิดพลาดหรือความเบี่ยงเบนที่จะผลิตไม่ได้มาตรฐาน
- ป้องกันไม่ให้มีข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตหรือการควบคุมคุณภาพ รวมทั้งขจัดปัญหามิให้เกิดขึ้นซ้ำซ้อน
- ส่งผลต่อคุณภาพอาหารในระยะยาว และช่วยลดต้นทุนการผลิต
- มีความสะดวก และง่ายต่อการติดตามข้อมูล
- มีการควบคุม และรักษามาตรฐานความสะอาด และถูกสุขลักษณะของโรงงาน
- สร้างความสะดวกปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในขณะปฏิบัติงาน
- ช่วยสร้างทัศนคติที่ดี และถูกต้องแก่ผู้ปฏิบัติงาน
- ความคล่องตัวในการดูแล การจัดการ และการประเมินงานในโรงงาน
โดยโรงงานที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่นั้นในประเทศไทยนั้นต่างก็ได้รับรองมาตรฐาน GMP ซึ่ง Kovic Kate International ก็เป็นอีกหนึ่งโรงงานที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP ดังนั้นหากผลิตอาหารเสริมกับทาง Kovic รับรองได้เลยว่าสินค้าที่ถูกผลิตออกมานั้นได้คุณภาพ สะอาดและปลอดภัยตามกฎเกณฑ์ปฏิบัติของ GMP อย่างแน่นอน
สรุป
สำหรับโรงงานผลิตอาหาร สิ่งสำคัญที่ควรรู้ก็คือ การผลิตอาหารที่ได้คุณภาพ ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน GMP เพื่อเป็นเครื่องมือรับประกันว่าสินค้าที่ออกมาจากโรงงานนั้น มีคุณภาพ สะอาดและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
แหล่งที่มา
www.proindsolutions.com
www.chi.co.th
โควิก เคทท์ เป็นโรงงานผลิตอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตเครื่องสำอาง สกินแคร์ ยาสมุนไพรและสารสกัดสมุนไพร ที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี
บริการผลิตอาหารเสริมครบวงจร ที่มีคุณภาพสูง มีความปลอดภัยและมาตรฐานที่ดีเยี่ยม เพื่อให้คุณลูกค้าได้เป็นเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในรูปแบบที่ง่ายและไม่ต้องลงทุนสูง
จากแนวคิด Complete OEM Health & Beauty Ecosystem โควิก เคทท์ ได้นำความเชี่ยวชาญ การพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์จากสารสกัดธรรมชาติและสมุนไพร มาต่อยอดเทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรมการผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพของสินค้าต่อผู้บริโภคให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจผลิตอาหารเสริมกับทาง #KovicKate ติดต่อได้ที่
โทร : 02-521-7888